ชีวิตหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ของ เตา ชื่อซฺวิน

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ท่านได้เรียนหนังสือในระดับมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยยูนนาน และได้แต่งงานกับ สิว์ จิ๊ว เฟิน ชาวจีนคุนหมิง ในปี ค.ศ. 1953 ก่อนที่จะทำงานเป็นนักวิจัยด้านภาษาศาสตร์ อีก 8 ปี ที่สถาบันวิจัยชนชาติส่วนน้อยแห่งชาติ สังกัดสภาวิทยาศาสตร์ประเทศจีน ในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง

ต่อมาเจ้าหม่อมแสนเมืองได้ขอให้รัฐบาลจีนย้ายทั้งสองกลับมาที่คุนหมิง โดยมาทำงานเป็นนักวิจัยด้านภาษาซึ่งรวมถึงอักษรไทลื้อ จนกระทั่ง ในปี ค.ศ. 1971 รัฐบาล จีนมีคำสั่งให้เจ้าหม่อมคำลือและภรรยาไปทำงานในชนบททำงานในสวนอ้อยใน อ.เชียงกุ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของสิบสองปันนา เป็นเวลานาน ถึง 9 ปี

การใช้เวลาในสวนอ้อยนี้ สิว์ จิ๊ว เฟิน เล่าว่า สามารถพกหนังสือหรือตำราเข้าไปอ่านได้ด้วย และหลังจาก เติ้ง เสี่ยว ผิง ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของจีนแล้ว เห็นว่านโยบายเอียงซ้าย นโยบายที่ให้เจ้านายไปใช้แรงงานในชนบท เป็นนโยบายที่ผิดพลาด ดังนั้นเจ้าหม่อมคำลือและภรรยาจึงมีโอกาสกลับคุนหมิง โดยทำงานเป็นนักวิจัยที่สถาบันวิจัยชนชาติในมหาวิทยาลัยชนชาติยูนนาน จนกระทั่งเกษียณอายุ โดยมีคุณวุฒิทางวิชาการคือ “ศาสตราจารย์”

อย่างไรก็ดี หลังจากเกษียณอายุแล้ว ทางการจีนได้ให้ฐานะ ทางสังคมแก่ เจ้าหม่อมคำลือในฐานะเจ้านายเก่าคือเป็น รองประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองระดับมณฑล และ กรรมการสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติ ซึ่งมีที่พัก และ รถประจำตำแหน่งให้ แต่ปัจจุบันท่านก็ได้เกษียณจากทุกตำแหน่งแล้ว

ทั้งนี้ เจ้าหม่อมคำลือมีพระอนุชาชื่อ เจ้าหม่อมมหาวัง อยู่ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ของประเทศไทย แต่ปัจจุบันก็สิ้นแล้ว คงเหลือแต่ลูก ๆ ซึ่งอยู่ที่แม่สาย และรวมถึงในกรุงเทพฯ ที่ใช้ นามสกุล “คำลือ” เพื่อเป็นที่ระลึกถึง “เจ้าหม่อมคำลือ” กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรไทลื้อ เจ้าหม่อมคำลือในปัจจุบัน ยังเป็นที่รักและเคารพของชาวไทลื้อ [1]